Monaco, Principality of

ราชรัฐโมนาโก

​     ​ราชรัฐโมนาโกเป็นรัฐขนาดเล็กของยุโรปที่ มี ชื่อเสียงในด้านสถานที่ ตากอากาศและพักผ่อนหย่อนใจ ของมหาเศรษฐีทั่วโลก รวมทั้งเป็นสถานที่ เล่นการพนันระดับหรูในประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศ แม้ ฝรั่งเศสจะพยายามแผ่อิทธิพลเข้าครอบครองมาโดย ตลอด แต่เจ้าผู้ครองราชรัฐแห่งราชวงศ์กรีมัลดี (Grimaldi) ก็สามารถรักษาอธิปไตยของประเทศไว้ได้และพัฒนา


ประเทศขนาดเล็กนี้ให้เจริญก้าวหน้าและมีจำนวน ประชากรต่อพื้นที่ อาศัยหนาแน่นที่สุดในโลก
     โมนาโกมีพื้นที่ ๑.๙๕ ตารางกิโลเมตร นับเป็นประเทศที่ มีขนาดเล็กลำดับ๒ ของยุโรปรองจากนคร รัฐวาติกัน (Vatican City) เป็นประเทศที่ มีลักษณะเป็นนครรัฐ (city-state) และมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นคือ๑๘,๒๘๕ คนต่อ๑ ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่บนบริเวณ ชายฝั่งรีเวียรา (Riviera) ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ห่าง จากนีซ (Nice) เมืองตากอากาศที่ มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส ไปทางตะวันออกเพียง ๑๔ กิโลเมตร โดยมีพรมแดนทาง ทิศเหนือทิศตะวันออกและทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดอาลป์-มารีตีม (Alpes-Maritimes) ของฝรั่งเศสส่วน ทิศใต้ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน พื้นที่ ของราชรัฐแบ่งออกเป็น๔ เขต คือเขตโมนาโก-วีล (Monaco-Ville) หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า "เดอะร็อก" (the Rock) เป็นเนินหินสูงลาดลงสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและเป็นที่ ตั้งของพระราชวังมหาวิหาร อาคารที่ ทำการรัฐบาล และ พิพิธภัณฑ์สมุทรศาสตร์รวมทั้งเป็นเขตที่ คนอาศัยอยู่ หนาแน่นที่สุดเขตลากงดามีนหรือลากอนดามีเน (LaCondamine) เป็นที่ ตั้งของท่าเรือเขตมอนติคาร์โล (Monte Carlo) เป็นเขตที่ พักอาศัยและสถานที่ ตาก อากาศรวมทั้งที่ ตั้งบ่อนพนันโรงแรมหรูและร้านค้าที่ มี ชื่อเสียง และสุดท้ายคือเขตฟงวีเอย (Fontvieille) ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมและเป็นเขตที่ ขยายเนื้อที่ออกไปยังทะเล มีกรุงโมนาโกเป็นเมืองหลวง
     โมนาโกมีพลเมือง ๓๒,๗๙๖ คน ( ค.ศ. ๒๐๐๘) เป็นชาวโมเนกาสก์ (Monegasque) หรือผู้สืบเชื้อสาย ชาวเจนัว (Genoese) ร้อยละ ๑๖ เชื้อสายฝรั่งเศส ร้อยละ ๔๗ เชื้อสายอิตาลีร้อยละ ๑๖ และเชื้อสาย อื่นๆ จาก ๑๒๕ ประเทศอีกร้อยละ ๒๑ ภาษาราชการคือภาษาฝรั่งเศส ภาษาอื่นๆที่ นิยมพูดได้แก่ภาษา อังกฤษ อิตาลีและโมเนกาสก์ (Monegasque-ภาษา ฝรั่งเศสปนภาษาอิตาลี) คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกเป็นศาสนาประจำชาติซึ่งมีผู้นับถือประมาณ ร้อยละ ๙๐ โมนาโกไม่ได้เป็นสมาชิกโดยตรงของ สหภาพยุโรปหรืออียู (European Union - EU)* แต่ รวมตัวในสหภาพศุลกากรกับฝรั่งเศส จึงได้รับผล ประโยชน์จากตลาดร่วมของอียูด้วยปัจจุบันใช้เงินยูโร (Euro)* เช่นเดียวกับฝรั่งเศสและประเทศสมาชิกของอียู
     แม้ว่าโมนาโกจะเป็นเพียงรัฐเล็กๆ แต่ก็ มี ประวัติศาสตร์อันยาวนานที่ อาจมองย้อนกลับไปได้นับพันๆ ปีชุมชนแรก ๆที่ จัดตั้งขึ้นในโมนาโก ได้แก่ชุมชน ของพวกลูกูเรียน (Lugurian) ซึ่งอพยพเข้ามาอาศัยใน ช่วงระยะเวลาที่ พวกอพยพที่ พูดภาษาอินโด-ยูโรเปียน เข้ามาตั้งหลักแหล่งในเขตโปรวองซ์ (Provence) และ ลิกูเรีย (Liguria) ในฝรั่งเศส นักเขียนและนักประวัติ ศาสตร์กรีกในศตวรรษที่ ๑ ก่อนคริสต์ศักราชมีบันทึกไว้ว่า พวกลูกูเรียนเป็นชาวเขาที่ ทำงานหนักและเป็นตัวอย่างของการมัธยัสถ์ในศตวรรษที่ ๑๐ ก่อนคริสต์ ศักราชพวกฟินิเชีย (Phoenician) ซึ่งเป็นนักเดินเรือและ พ่อค้าได้เดินทางจากเอเชียไมเนอร์มาสร้างท่าเรือขึ้นใน โมนาโก หลังจากนั้นโมนาโกก็ตกเป็นของพวกโฟเชียน (Phocian) ซึ่งเป็นชาวกรีกกลุ่มหนึ่งพวกโฟเชียนไดสร้างเทวสถานให้แก่เทพเฮราคลีส (Heracles) หรือชาว โรมันเรียกว่าเฮอร์คิวลีส (Hercules) และเรียกเทวสถาน นี้ว่า "เฮราคลีสโมโนอิกอส" (Heracles Monoikos) แปลว่า เฮราคลีสเพียงองค์เดียว (Heracles Alone) ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นที่ มาของชื่อโมนาโกในเวลาต่อมา อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ กรีกและต่อมาโรมันได้ครอบครอง ท่าเรือในโมนาโกนั้นท่าเรือสำคัญแห่งนี้มีชื่อเรียกว่า ท่าเรือเฮราคลีสหรือเฮอร์คิวลีสและเป็นท่าเรือที่ เป็นศูนย์กลางทางการค้าและเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งของยุโรป
     หลังจากจักรวรรดิโรมันล่มสลายลงใน ค.ศ. ๔๗๖ ดินแดนโมนาโกก็ถูกพวกอนารยชนเผ่าต่าง ๆ ผลัดกันเข้ารุกราน รวมทั้งพวกซาระเซ็น (Saracen)ที่ เข้ารุกรานในคริสต์ศตวรรษที่ ๙ และสร้างป้อมปราการขึ้นที่ เดอะร็อก แต่ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ บรรพบุรุษของชาวโมนาโกก็สามารถขับไล่พวกซาระเซ็นและในเวลาต่อมาประชาชนก็ค่อย ๆ กลับเข้ามาอาศัยอยู่บนฝั่งทะเลลิกูเรียอีกครั้งใน ค.ศ. ๑๐๗๐ ตระกูลกรีมัลดีจากเมืองเจนัว (Genoa) ในคาบสมุทรอิตาลีได้ เข้าครอบครองที่ดินบางส่วนในโมนาโก ในช่วงที่ เกิดสงครามครูเสด (Crusades ค.ศ. ๑๐๙๖-๑๒๙๑) ตระกูลกรีมัลดีได้สร้างป้อมปราการที่แนวหาดรีเวียราทาง ตะวันตกขึ้นใน ค.ศ. ๑๑๙๑ เพื่อป้องกันการโจมตีจากเรือรบของพวกซาระเซ็น
     ใน ค.ศ. ๑๒๑๕ เจนัวได้ยึดดินแดนโมนาโกเป็นอาณานิคม โดยมีฟุลโกเดส กัสเซลโล (Fulcodes Cassello) เป็นผู้นำ และในช่วงเวลาเดียวกันนี้จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)* ได้พระราชทานอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน ทั้งหมดรอบ ๆ บริเวณเดอะร็อก นับเป็นจุดเริ่มต้นของ ประวัติศาสตร์ราชรัฐโมนาโก มีการเสริมสร้างป้อม ปราการให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นและขยายเป็นวงแหวนรอบ เดอะร็อก นอกจากนี้ยังมีการยกที่ดินและยกเว้นการเสียภาษีแก่ผู้เข้ามาตั้งรกราก ทำให้โมนาโกกลายเป็นดินแดนสำคัญและเป็นที่ แย่งชิงดินแดนกันระหว่างชาว เจนัวที่ เป็นพวกเกวลฟ์ (Guelf) ซึ่งสนับสนุนสันตะปาปา และพวกกิเบลลีน (Ghibelline)ที่สนับสนุนจักรพรรดิ แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ขณะเดียวกันในเมืองเจนัว ความขัดแย้งระหว่างพวกเกวลฟ์กับพวกกิเบลลีนก็ทวีความรุนแรงขึ้นและกลายเป็นสงครามกลางเมืองใน ค.ศ. ๑๒๗๐ เป็นต้นไป

     ใน ค.ศ. ๑๒๙๖ พวกเกวลฟ์ซึ่งมีขุนนางตระกูลกรีมัลดีรวมอยู่ด้วยกันได้ถูกขับออกจากเจนัวและต้องไป ลี้ภัยที่ โปรวองซ์ต่อมาในวันที่ ๘ มกราคม ค.ศ. ๑๒๙๗ ฟรองซัว กรีมัลดี (Francois Grimaldi) ซึ่งเป็นที่ รู้จักกันในสมญานามมาลีเซีย (Malizia) หรือ "เจ้าเล่ห์" ได้ นำกองทัพขนาดเล็กเข้ายึดป้อมปราการโมนาโกด้วยการปลอมตัวเป็นนักบวชในนิกายฟรานซิสกัน (Franciscan) นับเป็นจุดเริ่มต้นของการครอบครองและการปกครอง โมนาโกอย่างแท้จริงของตระกูลกรีมัลดีซึ่งใน ค.ศ. ๑๙๙๗ โมนาโกจัดให้มีพิธีเฉลิมฉลองวาระครบ ๗๐๐ ปีที่ ราชวงศ์กรีมัลดีได้อำนาจปกครองโมนาโก นอกจาก นี้เหตุการณ์ดังกล่าวยังเป็นที่ มาของรูปนักบวช ๒ รูปที่ยืนด้านซ้ายและด้านขวาของตราโล่ในตราประจำ ราชวงศ์กรีมัลดีด้วย ตระกูลกรีมัลดีได้อำนาจปกครอง โมนาโกเพียง ๔ ปีก็ถูกขับไล่แต่ใน ค.ศ. ๑๓๓๑ ได้หวน กลับมามีอำนาจอีกครั้งชาลส์ที่ ๑ ได้ใช้เงินซื้อที่ดินใน ครอบครองของตระกูลสปีโนลัส (Spinolas) ซึ่งเป็นพันธมิตรของพวกกิเบลลีนและให้อพยพออกจากโมนาโก ต่อมาได้ขยายดินแดนในครอบครองโดยการซื้อมองตง (Menton) และร็อกบรูน (Roquebrune) ซึ่งมาพร้อม กับตำแหน่ง "ลอร์ด" (lord) และทำให้เขาใช้บรรดาศักดิ์ ลอร์ดแห่งโมนาโกเป็นคนแรกของตระกูลนับแต่นั้นเป็นต้นมาตระกูลกรีมัลดีก็สามารถควบคุมการค้าและ กิจการทางการเมืองต่าง ๆ ในโมนาโกได้ขณะเดียวกันชาลส์ที่ ๑ ก็สร้างความความสัมพันธ์ที่ ดีกับฝรั่งเศสโดยส่งกองทหารหน้าไม้จำนวนหนึ่งเข้าร่วมในยุทธการที่เกรซี (Battle of Crecy) ใน ค.ศ. ๑๓๔๖ และส่งกองเรือเข้ายึดเมืองกาเล (Calais) แต่อำนาจอธิปไตยของ ตระกูลกรีมัลดีเหนือโมนาโกก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันโดย ทั่วไป และถูกเจนัวอ้างสิทธิ์มาโดยตลอดจนกระทั่งพระเจ้าชาร์ลที่ ๘ (Charles VIII ค.ศ. ๑๔๘๓-๑๔๙๘) แห่งฝรั่งเศสและดุ๊กแห่งซาวอย (Duke of Savoy) ประกาศยอมรับเอกราชของโมนาโกใน ค.ศ. ๑๔๘๙ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๕๐๗ เจนัวได้ส่งทหารเข้ายึดป้อม ปราการของโมนาโกและสามารถปิดล้อมได้เป็นเวลา กว่า ๓ เดือนก่อนถูกกองทหารที่ ประจำการในป้อม ปราการเอาชนะและขับไล่ได้สำเร็จอีก๕ ปีต่อมา พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๒ (Louis XII ค.ศ. ๑๔๙๘-๑๕๑๕) แห่งฝรั่งเศสก็ทรงรับรองอำนาจอธิปไตยของโมนาโก อีกครั้งและการเป็นพันธมิตรถาวรระหว่างฝรั่งเศสกับโมนาโก ทั้งยังทรงยืนยันตำแหน่งลอร์ดแห่งโมนาโกของ ตระกูลกรีมัลดีว่าได้มาจาก "พระเป็นเจ้าและพระแสง ดาบ" (God and the Sword)
     อย่างไรก็ดี ในรัชสมัยของพระเจ้าฟรานซิสที่ ๑ (Francis I ค.ศ. ๑๕๑๕-๑๕๔๗) แห่งฝรั่งเศส ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับโมนาโกดำเนินไปอย่างไม่ ราบรื่นเพราะลอร์ดออกูสแตง (Augustin) บิชอปแห่งกราส (Bishop of Grasse) ซึ่งทำหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการให้แก่โอโนเรที่ ๑ (Honore I ค.ศ. ๑๕๓๒-๑๕๘๑) หลาน ชายได้ขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ ระดับสูงของฝรั่งเศส จึงเป็นการเปิดโอกาสให้จักรพรรดิชาลส์ที่ ๕ (Charles V ค.ศ.๑๕๑๙-๑๕๕๘) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์หรืออีกพระอิสริยยศพระเจ้าชาลส์ที่ ๑ (Charles I ค.ศ. ๑๕๑๙-๑๕๕๖) แห่งสเปนเข้าแทรกแซง ในที่สุดพระเจ้า ฟรานซิสที่ ๑ กับจักรพรรดิชาลส์ที่ ๕ ก็ทรงบรรลุข้อตกลงกันได้ใน ค.ศ. ๑๕๒๔ โดยให้โมนาโกอยู่ใน อารักขาของสเปน ต่อมาใน ค.ศ. ๑๖๑๒ โอโนเรที่ ๒ (Honore II ค.ศ. ๑๖๐๔-๑๖๖๒) นัดดาของโอโนเรที่ ๑ ก็ประกาศตนเป็น "เจ้าชายและลอร์ดแห่งโมนาโก" ซึ่งทั้งกษัตริย์แห่งสเปนและกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสก็ทรงให้ การรับรอง และทำให้โมนาโกมีฐานะเป็นราชรัฐชั้นพรินซิพาลิตี (Principality)
     แม้โมนาโกจะอยู่ในอารักขาของสเปนแต่ เจ้าชายโอโนเรที่ ๒ ก็ทรงดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับฝรั่งเศส ทรงใช้เวลากว่า ๑๐ ปีในการโน้มน้าวให้ฝรั่งเศสสนับสนุนด้านการทหารแก่โมนาโกและประสบความสำเร็จใน ค.ศ. ๑๖๔๑ เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๓ ทรงยินยอมลงพระนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการช่วยเหลือโมนาโก โดยมีคาร์ดินัลรีเชอลีเยอ (Richelieu) อัคร เสนาบดีผู้มีอิทธิพลสูงสุดในราชสำนักฝรั่งเศสให้การสนับสนุนทั้งยังทรงให้การยืนยันอำนาจอธิปไตยของ องค์ประมุขและรับรองเอกราชของโมนาโกตลอดจน อภิสิทธิ์และสิทธิต่าง ๆ ฝรั่งเศสได้ส่งกองทหารไป ประจำการในโมนาโกโดยให้อยู่ในบัญชาการโดยตรง ของเจ้าชายแห่งโมนาโก แต่กองทหารสเปนที่ ประจำ การในโมนาโกไม่ยอมถอนตัวออกและยึดครองป้อม ปราการเจ้าชายโอโนเรที่ ๒ จึงทรงรวบรวมกำลังติดอาวุธขับไล่กองกำลังสเปนและสามารถยึดป้อมปราการกลับคืนได้นับแต่นั้นเป็นต้นมาความสัมพันธ์ระหว่าง ราชสำนักฝรั่งเศสกับราชสำนักโมนาโกก็แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเจ้าชายโอโนเรที่ ๒ ทรงได้รับพระราชทานพระเกียรติยศ และอภิสิทธิ์ต่าง ๆ ตลอดจนบรรดาศักดิ์ในฐานะลอร์ดของที่ดินหลายผืนในฝรั่งเศส ทั้งพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ (Louis XIV ค.ศ. ๑๖๔๓-๑๗๑๕) ขณะทรงพระเยาว์ ก็ทรงรับเป็นพ่อทูนหัวให้แก่เจ้าชายหลุยส์ [Louis ต่อมาคือเจ้าชายหลุยส์ที่ ๑ (Louis I ค.ศ. ๑๖๖๒-๑๗๐๑) แห่งโมนาโก] พระนัดดาในเจ้าชายโอโนเรที่ ๒ ด้วย เมื่อเจ้าชายหลุยส์ได้สืบบัลลังก์โมนาโกใน ค.ศ. ๑๖๖๒ พระองค์ก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสอย่างใกล้ ชิดเหมือนเดิมทรงเข้าร่วมในกองทัพฝรั่งเศสหลายครั้งและได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะทูตไปเฝ้าสันตะปาปา เพื่อเจรจาให้พระองค์สนับสนุนเจ้าชายฟิลิป เคานต์แห่งอองจู (Philip, Count of Anjou) พระราชนัดดาของ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ซึ่งเป็นพระญาติสนิทกับพระเจ้า ชาลส์ที่ ๒ (Charles II ค.ศ. ๑๖๖๕-๑๗๐๐) แห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* สายสเปนให้เป็นรัชทายาท เนื่องในขณะนั้นราชวงศ์ฮับส์บูร์กสายสเปน กำลังจะสิ้นสายลง
     ในเวลาต่อมา ราชวงศ์กรีมัลดีก็ประสบปัญหา การขาดรัชทายาทเช่นเดียวกับราชวงศ์ฮับส์บูร์กสายสเปนเมื่อเจ้าชายอองตวนที่ ๑ (Antoine I ค.ศ. ๑๗๐๑-๑๗๓๑) พระโอรสทรงมีแต่พระธิดา อย่างไรก็ดี ตาม พินัยกรรมว่าด้วยการสืบทอดฐานันดรศักดิ์ของลอร์ดจอห์นกรีมัลดีใน ค.ศ. ๑๔๕๔ ที่ ราชสำนักโมนาโกยึดถือปฏิบัติกันต่อๆ มาให้สิทธิแก่ธิดาคนโตในการสืบทอดตำแหน่งได้หากไม่มีโอรส (โดยไม่คำนึงว่าเป็นโอรส หรือธิดาที่ ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่) แต่ธิดาจะต้อง เสกสมรสกับชายในตระกูลกรีมัลดีด้วย หรือมิฉะนั้นตำแหน่งประมุขของโมนาโกต้องตกเป็นของตระกูลกรีมัลดีสายอื่นดังนั้นใน ค.ศ. ๑๗๕๑ เจ้าชายอองตวนที่ ๑ จึงทรงเลือกคู่ครองที่ อยู่ในตระกูลกรีมัลดีให้แก่ เจ้าหญิงลุย-อีโปลีต (Louis-Hippolyte) พระธิดา แต่ พระธิดาทรงยกเลิกพิธีเสกสมรสและเสกสมรสกับชาก เดอ โกยอง มาตีญง (Jacque de Goyan Matignon) ขุนนางฝรั่งเศสแห่งนอร์มองดี (Normandy)ที่ มั่งคั่งซึ่งปรารถนาจะสืบทอดฐานันดรศักดิ์เจ้าชายแห่งโมนาโก ซึ่งโดยขนบธรรมเนียมประเพณีของฝรั่งเศสแล้ว การสืบทอดฐานันดรศักดิ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ เป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ดี พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ก็ทรงเห็นชอบด้วย โดยทรงสถาปนาให้เขาเป็นดุ๊กแห่งวาเลนตีนัว (Duke of Valentinois) และให้มาตีญงเลิกใช้ชื่อสกุลและตรา ประจำตระกูลของตนและหันไปใช้ชื่อสกุลและตราประจำ ตระกูลกรีมัลดีแทน
     หลังจากเจ้าหญิงลุย-อีโปลีตได้สืบทอดตำแหน่งประมุขของโมนาโกใน ค.ศ. ๑๗๓๑ และสิ้นพระชนม์ใน อีก๑๐ เดือนต่อมา มาตีญงก็ได้สืบราชบัลลังก์โมนาโก ในพระนามเจ้าชายชากที่ ๑ (Jacques I ค.ศ. ๑๗๓๑-๑๗๓๓) โดยมีฝรั่งเศสให้การรับรอง แต่พระองค์ไม่เป็นที่ยอมรับจากทั้งสมาชิกราชวงศ์กรีมัลดีและขุนนางแห่งราชสำนักแวร์ซายเนื่องจากพระองค์ยอมเสียศักดิ์ศรีใน การเปลี่ยนชื่อสกุลเพื่อจะไต่เต้าครองตำแหน่งประมุขแห่งโมนาโก แม้โดยทั่วไป โมนาโกจะสามารถรักษา "สถานะเดิม" ไว้ได้แต่ก็เป็นที่ ประจักษ์ว่าอำนาจ อธิปไตยของราชรัฐก็เป็นเพียงแต่ภาพลวงตาเท่านั้นส่วนเจ้าชายชากที่ ๑ ก็ทรงมีความเป็นขุนนางฝรั่งเศส มากกว่าความเป็น "กรีมัลดี" หรือชาวโมนาโกและ พระองค์โปรดที่ จะประทับในบ้านที่ กรุงปารีสมากกว่า ซึ่งปัจจุบันคือโอแตลมาตีญง (Hotel Matignon)ที่ พำนักอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส
     ใน ค.ศ. ๑๗๓๓ เจ้าชายชากที่ ๑ ทรงสละราชย์ ให้เจ้าชายโอโนเรที่ ๓ (Honore III ค.ศ. ๑๗๓๓-๑๗๙๓) พระโอรสวัย๑๓ ปีซึ่งทรงครองราชย์จนถึง ค.ศ. ๑๗๙๓ ก่อนถูกฝรั่งเศสขับออกจากบัลลังก์ตลอดรัชกาลอันยาวนานถึง๖๐ ปีโมนาโกมีสถานภาพเป็นเสมือนรัฐใน อารักขาของฝรั่งเศส องค์ประมุขทรงเข้าร่วมในการรบที่แฟลนเดอส์ (Flanders) แม่น้ำไรน์และประเทศแผ่นดินต่ำ (Low Countries) และในกลาง ค.ศ. ๑๗๔๘ ทรงได้ รับแต่งตั้งเป็นจอมพลของกองทัพฝรั่งเศสด้วย
     นอกจากนี้ใน ค.ศ. ๑๗๗๖ เจ้าชายโอโนเร (Honore) พระโอรสองค์โตยังได้เสกสมรสกับโอร์ตองส์ มองซีนี (Hortense Mancini) หลานสาวของอดีตอัคร เสนาบดีมาซาแรง (Mazarin) แห่งฝรั่งเศส ทำให้ราชวงศ์ กรีมัลดีได้ครอบครองที่ดินจำนวนมหาศาลในฝรั่งเศสรวมทั้งราชรัฐเรอเตล (Duchy of Rethel) ราชรัฐชาโตโปร์ซีออง (Principality of Chateau-Porcien) และอื่นๆ นอกจากนี้ราชวงศ์กรีมัลดียังมีรายได้จากการเก็บภาษี ระวางเรือที่ แวะจอดเพื่อเดินทางต่อไปยังอิตาลีและราย ได้จากที่ดิน (fief) ในวาเลนตีนัว โอแวร์ญ (Auvergne) โปรวองซ์และนอร์มองดีรวมทั้งในอัลซาซ (Alsace) ซึ่งทำให้โมนาโกมีรายได้สูงและประชาชนโดยทั่วไปมีฐานะดี
     อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* ทรัพย์สมบัติของราชวงศ์กรีมัลดีและสิทธิของการเป็นลอร์ดใน ระบอบการปกครองแบบฟิวดัล (Feudalism) ถูกสภา ร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ (National Constituent Assembly) ประกาศยกเลิกในวันที่ ๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๗๘๙ เจ้าชายโอโนเรที่ ๓ ทรงพยายามปกป้องรักษาสิทธิ ต่าง ๆ ของพระองค์โดยอ้างสนธิสัญญาที่ เคยกระทำกับฝรั่งเศส แต่ไร้ผลส่วนการเมืองภายในราชรัฐก็แบ่งออก เป็น๒ กลุ่มคือกลุ่มที่สนับสนุนองค์ประมุขกับอีกกลุ่มที่ ต้องการให้มีการจัดตั้งรัฐบาลของประชาชน แต่ใน เวลาไม่ช้ากองทัพฝรั่งเศสก็เข้ายึดครองเขตนีซต่อมาในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๙๓ สภากงวองซิยงแห่งชาติ (National Convention) ก็มีมติให้ผนวกราชรัฐโมนาโกเข้ากับสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๑ (First Republic of France)*ที่ จัดตั้งขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๗๙๒ โดยให้มีฐานะเป็นอำเภอ (canton) และต่อมาเป็นเมืองเอกของจังหวัด (arrondisement)
     ในช่วงสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๑ และจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ (First Empire of France)* โมนาโกได้ถูกลดความสำคัญลง อีกทั้งราชรัฐต้องเผชิญกับปัญหา เศรษฐกิจราชวงศ์กรีมัลดีต้องสูญเสียสมบัติที่ มีค่าที่สะสมกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ภาพวาดล้ำค่า และศิลปวัตถุต่าง ๆ ถูกนำออกประมูลขายส่วน พระราชวังถูกใช้เป็นสถานที่ พักชั่วคราวของกองกำลังฝรั่งเศสก่อนเดินทัพต่อไป ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลและสถานสงเคราะห์คนจน ตลอดระยะเวลาของการปฏิวัติได้มีการนำตัวสมาชิกของราชวงศ์ กรีมัลดีไปสอบสวนและคุมขังแต่ทุกคนก็ได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมายกเว้นมารี-เตแรส เดอ ชัวเซิล สแตงวีล (Marie-Therese de Choiseul-Stainville) ชายาของเจ้าชายฟิลิปโอรสองค์ที่ ๒ ของเจ้าชาย โอโนเรที่ ๓ที่ ถูกนำตัวไปประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโยตีน
     อย่างไรก็ดีสถานการณ์ต่าง ๆ ได้พลิกผันเมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* ทรงประกาศสละราชสมบัติเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๑๔ สนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris) ฉบับที่ ๑ ได้คืนทรัพย์สินศักดิ์ศรีและพระ เกียรติยศของราชรัฐและของราชวงศ์กรีมัลดีที่ เคยเป็นหรือเคยมีก่อนวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๗๙๒ เจ้าชาย โอโนเรที่ ๔ (Honore IV ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๙) พระโอรส ในเจ้าชายโอโนเรที่ ๓ ทรงมีพระสุขภาพทรุดโทรม และไม่อาจปฏิบัติพระภารกิจได้ตำแหน่งองค์ประมุขจึงตกเป็นของเจ้าชายโอโนเร-กาบรีเอล (HonoreGabriel) พระโอรส ซึ่งสืบราชสมบัติต่อในพระนาม เจ้าชายโอโนเรที่ ๕ (Honore V ค.ศ. ๑๘๑๙-๑๘๔๑)
     หลังสมัยร้อยวัน (Hundred Day)*ที่ จักรพรรดิ นโปเลียนที่ ๑ กลับเข้ามามีอำนาจในฝรั่งเศสอีกครั้งแต่ ต่อมาต้องพ่ายแพ้อย่างเด็ดขาดในยุทธการที่วอเตอร์ลู (Battle of Waterloo) มหาอำนาจยุโรปได้ตกลงทำสนธิสัญญาปารีสฉบับที่ ๒ ขึ้นเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๑๗ ในสนธิสัญญาฉบับหลังนี้ราชรัฐโมนาโกได้รับการพิจารณาให้เป็นรัฐในอารักขาของ ราชอาณาจักรปีดมอนต์ ซาร์ดิเนีย (Kingdom of Piedmont-Sardinia)* ตามหลักการปิดล้อมฝรั่งเศส (Principle of Encycle) อีกทั้งยังเป็นการลดบทบาทของ ฝรั่งเศสที่ มีต่อโมนาโกนานนับศตวรรษอีกด้วย
     เมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* ประกอบกับในขณะนั้นกระแสชาตินิยมและ เสรีนิยมที่ แผ่ไปทั่วยุโรป มองตงและร็อกบรูนซึ่งไม่พอใจที่ จะรวมตัวอยู่ในราชรัฐโมนาโก จึงเห็นเป็นโอกาสในการประกาศตัวเป็นเสรีนครเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ เจ้าชายโฟลเรสตอง (Florestan ค.ศ. ๑๘๔๑-๑๘๕๖) และต่อมาเจ้าชายชาร์ลที่ ๓ (Charles III ค.ศ. ๑๘๕๖-๑๘๘๙) ประมุขของราชรัฐทรงพยายามให้เมืองมองตงกับร็อกบรูนอยู่ใต้ปกครองของโมนาโกโดยตรง อีกแต่ไม่ทรงประสบความสำเร็จ
     ขณะเดียวกันในปลายทศวรรษ ๑๘๕๐ ได้เกิดสงครามระหว่างราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียกับออสเตรียโดยปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียต้องการกำจัดอำนาจ ของออสเตรียออกจากคาบสมุทรอิตาลีทั้งนี้โดยมี จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napoleon III ค.ศ. ๑๘๕๒-๑๘๗๐)*ss แห่งจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๒ (Second Empire of France)* ให้การสนับสนุนก่อนสงครามจะสิ้นสุดลง เจ้าชายชาร์ลที่ ๓ ก็ทรงยินยอมสละสิทธิในการปกครอง เมืองมองตงและเมืองร็อกบรูนให้แก่ฝรั่งเศส ซึ่งใน ขณะนั้นได้ครอบครองเมืองซาวอยและนีซแล้วตามสนธิสัญญาตูริน (Treaty of Turin) ค.ศ. ๑๘๖๐ เพื่อตอบแทน ฝรั่งเศสที่สนับสนุนปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียทำสงครามขับไล่ออสเตรียออกไปจากรัฐต่าง ๆ ในคาบสมุทรอิตาลี โมนาโกได้รับเงินชดเชยจากการสูญเสียเมืองทั้งสองดังกล่าวเป็นจำนวนเงิน๔ ล้านฟรังก์พร้อมกับการค้ำประกันเอกราชของโมนาโกภายใต้การปกครองของ ราชวงศ์กรีมัลดีนับเป็นครั้งแรกในรอบ ๓ ศตวรรษที่ เอกราชของโมนาโกได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและไม่เป็นรัฐในอารักขาของประเทศใด ๆ แต่ในทาง ปฎิบัติโมนาโกยังคงตกอยู่ใต้อิทธิพลและการชี้นำของ ฝรั่งเศสอีกและใน ค.ศ. ๑๘๖๕ ทั้ง ๒ ประเทศได้ร่วม กันทำสนธิสัญญาจัดตั้งสหภาพศุลกากร
     หลังสูญเสียมองตงและร็อกบรูนอาณาเขตของ ราชรัฐโมนาโกก็ลดลงจากเดิมเหลือเพียงร้อยละ ๒๐ เท่านั้นซึ่งทำให้รายได้ของประเทศไม่เพียงพอต่อค่า ใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งในการบริหารประเทศและการดำเนินงานในราชสำนักใน ค.ศ. ๑๘๖๓ เจ้าชายชาร์ลที่ ๓ และ เจ้าหญิงกาโรลีน (Caroline) พระมารดาจึงคิดจัดตั้งสถานบันเทิงและการพนันขึ้นโดยใช้ชื่อว่า "สมาคมเริงทะเล" (Societe des Bains de Mer) โดยให้สัมปทาน แก่นักธุรกิจในขั้นแรกไม่ประสบความสำเร็จแต่หลังจากฟรองซัว บลอง (Francois Blanc) ผู้จัดการสถาน บันเทิงและการพนันที่ เมืองฮอมบูร์ก (Homburg) ได้รับสัมปทานเป็นเวลา ๕๐ ปีเข้ามาดำเนินธุรกิจกิจการของสถานบันเทิงและการพนันในโมนาโกก็เฟื่องฟูบลองซึ่งต่อมาได้สมญานามว่า "ผู้วิเศษแห่งมอนติคาร์โล" (Magician of Monte Carlo)สามารถเนรมิตให้โมนาโก เป็นศูนย์กลางของสถานบันเทิงอย่างแท้จริงมีการสร้าง โรงแรมที่สวยงาม โรงละคร และบ่อนการพนันหรือคาสิโน (casino)ที่ หรูหราในบริเวณสเปลูกูโก (Speluguco) ซึ่งใน ค.ศ. ๑๘๖๐ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นมอนติคาร์โลเพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าชายชาร์ลนักท่องเที่ยวที่ เป็นมหาเศรษฐี และบุคคลสำคัญต่าง ๆ จำนวนมากพากันหลั่งไหลเข้า มาพักผ่อนในโมนาโกเพิ่มขึ้นทุกปีและนำรายได้จำนวน มหาศาลมาสู่ราชรัฐโดยเฉพาะภายหลัง ค.ศ. ๑๘๖๘ เมื่อทางรถไฟเชื่อมระหว่างเมืองนีซกับเมืองเวนตีมีลยา (Ventimiglia) ได้สร้างเสร็จใน ค.ศ. ๑๘๖๙ ได้มีการยก เลิกการเก็บภาษีทุกประเภทด้วย โมนาโกจึงกลายเป็นประเทศที่ ปลอดภาษี
     ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ของโมนาโกสิ้นสุดลงในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๑๑ เมื่อเจ้าชายอัลแบร์ที่ ๑ (Albert I ค.ศ. ๑๘๘๙-๑๙๒๒) ทรงประทานรัฐธรรมนูญให้แก่ชาวโมนาโก ระหว่าง สงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เจ้าชายหลุยส์ ต่อมาเป็นประมุขในพระนามหลุยส์ที่ ๒ (Louis II ค.ศ. ๑๙๒๒-๑๙๔๙) พระโอรสและองค์รัชทายาทได้เข้าร่วม ในกองทัพฝรั่งเศส และได้เลื่อนยศเป็นนายพล ขณะ เดียวกันในภาวะสงครามที่ เกิดขึ้นรัฐบาลฝรั่งเศสก็วิตกว่าเจ้าชายหลุยส์ซึ่งมีพระชนมายุไม่น้อยยังครององค์เป็นโสดและขาดรัชทายาท จึงเกรงว่าโมนาโกอาจได้ผู้ปกครอง องค์ใหม่ในอนาคตที่ จะนำภัยมาสู่ความมั่นคงของ ฝรั่งเศสได้ในที่สุดปัญหาการสืบราชสมบัติก็คลี่คลายลงเมื่อเจ้าชายหลุยส์ทรงรับชาร์ลอตลูเว (Charlotte Louvet) ธิดานอกสมรสที่ เกิดในแอลจีเรียเป็นพระธิดา บุญธรรม และต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๐ เจ้าชายอัลแบร์ที่ ๑ ก็ประทานพระอนุญาตให้เสกสมรสกับเคานต์ปีแยร์ เดอ โปลีญาก (Pierre de Polignac) เชื้อสายขุนนาง ฝรั่งเศส โดยโปลีญากต้องเปลี่ยนชื่อสกุลเป็นกรีมัลดีทั้งสองมีโอรสธิดา ๒ พระองค์ซึ่งเจ้าชายเรนีเย (Rainier) โอรสได้สืบทอดตำแหน่งองค์ประมุขของโมนาโกต่อจาก เจ้าชายหลุยส์ที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๙๔๙ โดยมีพระนาม อย่างเป็นทางการว่าเจ้าชายเรนีเยที่ ๓ (Rainier III ค.ศ. ๑๙๔๙-๒๐๐๕)
     สงครามโลกครั้งที่ ๑ ยังมีผลให้โมนาโกและ ฝรั่งเศสได้ทำข้อตกลงในสนธิสัญญาฉบับใหม่ในเดือน กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* โดยให้จำกัดอำนาจ อารักขาโมนาโกของฝรั่งเศส แต่ขณะเดียวกันก็ให้ โมนาโกกำหนดนโยบายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับผล ประโยชน์ทางการเมืองการทหารและเศรษฐกิจของ ฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังมีการตกลงเกี่ยวกับสิทธิการปกครองโมนาโกของฝรั่งเศสหากราชวงศ์กรีมัลดีสิ้นเชื้อสายลงด้วย
     ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* โมนาโกได้ถูกกองทัพเยอรมันเข้ายึดครอง เจ้าชายเรนีเยรัชทายาทก็ทรงเป็นทหารอาสาสมัครใน กองพลน้อยของฝรั่งเศสทำการต่อสู้กับฝ่ายเยอรมนี และทรงได้รับเหรียญกล้าหาญในการรบ ใน ค.ศ. ๑๙๔๙ พระองค์ได้สืบตำแหน่งองค์ประมุขต่อจากเจ้าชายหลุยส์ที่ ๒ พระอัยกา ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๕๖ เจ้าชายเรนีเยที่ ๓ ได้ทรงอภิเษกสมรสกับเกรซ เคลลี (Grace Kelly) นางเอกภาพยนตร์ฮอลลีวูดสาวสวยชาวอเมริกันการอภิเษกสมรสดังกล่าวทำให้ราชวงศ์กรีมัลดีเป็นที่สนใจ ของคนทั้งโลก และโมนาโกกลายเป็นประเทศที่ มีชื่อเสียงเป็นที่ รู้จักกันในระดับสากลส่งผลให้ผู้คนจำนวน มากเดินทางมาเยี่ยมชมพระราชวังของโมนาโกซึ่งกลายเป็นเสมือนเมืองในเทพนิยาย

     ตลอดรัชกาลอันยาวนานถึง ๕๕ ปี ( ค.ศ. ๑๙๔๙-๒๐๐๕) เจ้าชายเรนีเยที่ ๓ ทรงนำความ เจริญก้าวหน้ามาสู่โมนาโกอย่างมาก ทรงทำให้ราชรัฐมีเสถียรภาพทั้งทางด้านการเมืองเศรษฐกิจและสังคม ใน ค.ศ. ๑๙๖๒ ทรงประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งยกเลิกการลงโทษด้วยการประหารชีวิตให้สิทธิสตรีใน การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและจัดตั้งศาลฎีกาขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันเสรีภาพพื้นฐานแก่ชาวโมนาโก นอก จากนี้ยังทรงสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับฝรั่งเศสในเรื่องนโยบายปลอดภาษีโดยยินยอมทำข้อตกลงกับรัฐบาลฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๙๖๓ ในการเก็บภาษีรายได้ของพลเมืองฝรั่งเศสที่ เข้ามาอาศัยในโมนาโก น้อยกว่า ๕ ปีในอัตราเดียวกับฝรั่งเศส และให้บริษัทที่ มีกำไรร้อยละ ๒๕ จากนอกประเทศต้องเสียภาษีด้วย นับเป็นการเก็บภาษีเป็นครั้งแรกของโมนาโกในรอบ ๑๐๐ ปีส่วนในด้านการพัฒนาประเทศ โมนาโกได้ เปลี่ยนจากการที่เป็นเพียงสถานที่ พักผ่อนเขตรีเวียรามา เป็นศูนย์กลางทางการเงินธุรกิจวัฒนธรรม และการกีฬา รวมทั้งเป็นจุดหมายปลายทางของนักทัศนาจรที่ ต้องการความหรูหรา เจ้าชายเรนีเยที่ ๓ ซึ่งทรงได้รับสมญานามว่า "เจ้าชายนักก่อสร้าง" (Builder Prince) ทรงส่งเสริมนโยบายการก่อสร้างขนาดใหญ่ซึ่งรวมถึงการขยายพื้นที่ ของโมนาโกอีกร้อยละ ๒๐ โดยการถ ทะเล ปรับปรุงท่าเรือโดยใช้เทคนิคสมัยใหม่ที่สามารถ รองรับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ได้มากขึ้นนอกจากนี้ โมนาโกยังร่วมกิจกรรมนานาชาติมากขึ้นโดยได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations UN)* ใน ค.ศ. ๑๙๙๓ โดยเป็นสมาชิกสำดับที่ ๑๘๓ และ ใน ค.ศ. ๒๐๐๔ เป็นสมาชิกสภายุโรป (Council of Europe) ใน ค.ศ. ๒๐๐๒ โมนาโกก็ประสบความสำเร็จในการทำสนธิสัญญาฉบับใหม่กับฝรั่งเศส โดยสามารถ ตกลงกันว่าหากราชวงศ์กรีมัลดีไร้องค์รัชทายาทที่ จะสืบบัลลังก์ต่อไปในอนาคต ราชรัฐยังคงรักษาเอกราชต่อไป ได้และไม่ต้องตกเป็นรัฐในอารักขาหรือดินแดนของ ฝรั่งเศส แต่ในด้านการทหารและการป้องกันประเทศ นั้นเพื่อความมั่นคงของทั้ง ๒ ประเทศให้คงเป็นความ รับผิดชอบของฝรั่งเศสต่อไป
     ปัจจุบันโมนาโกเป็นประเทศที่ มีรายได้หลักจากนักทัศนาจรจำนวนนับล้านคนจากทั่วโลกที่ เดินทาง เข้ามาท่องเที่ยวชมความงามและแสวงหาความบันเทิงใน โรงละครที่ หรูหราและการพนันในราชรัฐเล็กๆ แห่งนี้ กอปรกับการยกเว้นการเก็บภาษีรายได้ของประชาชน (ยกเว้นชาวฝรั่งเศสตามข้อตกลง ค.ศ. ๑๙๖๓) รวมทั้งไม่มีภาษีมรดก จึงมีพ่อค้าคหบดีและมหาเศรษฐีจำนวน มากจากนานาประเทศเข้ามาพักอาศัยโมนาโกยังเป็นศูนย์กลางของการแข่งรถมอนติคาร์โลแรลลี (Monte Carlo Rally)ที่ เริ่มต้นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๑ ซึ่งนักขับรถทั่ว ทวีปยุโรปจะลงสนามแข่งรถแรลลีเป็นระยะทาง ๓,๒๐๐ กิโลเมตรจากรีเวียราของฝรั่งเศสผ่านโมนาโกไปยังทิศตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส นอกจากนี้โมนาโกยังจัดให้มีการแข่งรถโมนาโกกรองด์ปรีซ์ (Monaco Grand Prix) ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๒๙ ที่ นักแข่งรถสามารถประลอง ความเร็วบนถนนที่ คดเคี้ยวในโมนาโกไปมาเป็นระยะ ทาง ๒๖๐.๕๒ กิโลเมตร ซึ่งแต่ละปีจะมีนักขับรถแข่งที่ มี ชื่อเสียงจากทั่วโลกเข้าร่วมในรายการแข่งขันรถดังกล่าว นี้ส่วนดวงตราไปรษณีย์ของโมนาโกซึ่งเริ่มจำหน่ายเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๘๖๕ ก็เป็นที่ นิยมสะสมของนักสะสม แสตมป์ทั่วโลกซึ่งนำรายได้สูงให้แก่ประเทศ
     เจ้าชายเรนีเยที่ ๓สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. ๒๐๐๕ ขณะมีพระชนมายุ๘๑ ปีส่วนเจ้าหญิงเกรซพระชายา อดีตดาราภาพยนตร์ที่ ทำให้โมนาโกเป็นที่สนใจของคน ทั่วโลกได้สิ้นพระชนม์ก่อนหน้านี้ในอุบัติเหตุรถยนต์ใน ค.ศ. ๑๙๘๒ เจ้าชายอัลแบร์ที่ ๓ (Albert III ค.ศ. ๒๐๐๕-) พระโอรสได้ทรงครองตำแหน่ง "เจ้าชาย แห่งโมนาโก" ต่อจากพระบิดาและปฏิบัติหน้าที่ ประมุขของประทศ ทรงเป็นผู้แทนในการลงนามในสนธิสัญญาต่าง ๆ ระหว่างประเทศส่วนหัวหน้าคณะรัฐบาล (Cabinet หรือ Council of Government) ได้แก่นายกรัฐมนตรี (Minister of State) ทำหน้าที่ แทนพระองค์ในการบริหารและบัญชาการตำรวจ ตำแหน่งดังกล่าวนี้เริ่มมี ตั้งแต่โมนาโกประกาศใช้รัฐธรรมนูญใน ค.ศ. ๑๙๑๑ จนถึงเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๒๐๐๒ ใน อดีตนายกรัฐมนตรีต้องเป็นพลเมืองฝรั่งเศสที่รัฐบาล ฝรั่งเศสเสนอชื่อให้เจ้าชายแห่งโมนาโกทรงแต่งตั้งแต่ ปัจจุบันผู้ดำรงตำแหน่งนี้อาจเป็นพลเมืองฝรั่งเศสหรือพลเมืองโมนาโกก็ได้ที่ เจ้าชายแห่งโมนาโกทรงคัดเลือก และแต่งตั้งเอง โดยรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นผู้ถวายคำแนะนำ.



คำตั้ง
Monaco, Principality of
คำเทียบ
ราชรัฐโมนาโก
คำสำคัญ
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- เรนีเยที่ ๓, เจ้าชาย
- เคลลี, เกรซ
- โปลีญาก, เคานต์ปีแยร์ เดอ
- อัลแบร์ที่ ๑, เจ้าชาย
- สนธิสัญญาตูริน
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- โฟลเรสตอง, เจ้าชาย
- บลอง, ฟรองซัว
- ฝรั่งเศสที่ ๒, จักรวรรดิ
- นโปเลียนที่ ๓, จักรพรรดิ
- ชาร์ลที่ ๓, เจ้าชาย
- โอแวร์ญ
- กาโรลีน, เจ้าหญิง
- โอโนเรที่ ๔, เจ้าชาย
- โอโนเรที่ ๕, เจ้าชาย
- อัลซาซ
- โอโนเร-กาบรีเอล, เจ้าชาย
- กรีมัลดี, ราชวงศ์
- เงินยูโร
- โมนาโก, ราชรัฐ
- โปรวองซ์, เขต
- ฟงวีเอย, เขต
- โฟเชียน, พวก
- ฟินีเชีย, พวก
- มอนติคาร์โล, เขต
- โมนาโก-วีล, เขต
- โมเนกาสก์, ชาว
- ลากงดามีน, เขต
- ลูกูเรียน, พวก
- ลิกูเรีย
- สหภาพยุโรป
- อาลป์-มารีตีม, จังหวัด
- กรีมัลดี, ฟรองซัว
- กิเบลลีน, พวก
- กัสเซลโล, ฟุลโกเดส
- เกวลฟ์, พวก
- ซาระเซ็น
- เจนัว, เมือง
- โรมันอันศักดิ์สิทธิ์, จักรวรรดิ
- สปีโนลัส, ตระกูล
- สงครามครูเสด
- ชาร์ลที่ ๘ , พระเจ้า
- ชาลส์ที่ ๕, จักรพรรดิ
- ชาลส์ที่ ๑, พระเจ้า
- ซาวอย, ดุ๊กแห่ง
- บิชอปแห่งกราส
- ยุทธการที่เกรซี
- ฟรานซิสที่ ๑, พระเจ้า
- รีเชอลีเยอ, คาร์ดินัล
- หลุยส์ที่ ๑๒, พระเจ้า
- หลุยส์ที่ ๑๔, พระเจ้า
- โอโนเรที่ ๒
- ออกูสแตง, ลอร์ด
- การรบที่แฟลนเดอส์
- โอโนเรที่ ๑
- ชากที่ ๑, เจ้าชาย
- ชาลส์ที่ ๒, พระเจ้า
- ประเทศแผ่นดินต่ำ
- ฟิลิป เคานต์แห่งอองชู, เจ้าชาย
- มาตีญง, ชาก เดอ โกยอง
- ลุย-อีโปลีต, เจ้าหญิง
- วาเลนตีนัว, ดุ๊กแห่ง
- หลุยส์ที่ ๑, เจ้าชาย
- อองตวนที่ ๑, เจ้าชาย
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- องค์การสหประชาชาติ
- อัลแบร์ที่ ๓, เจ้าชาย
- โอแตลมาตีญง
- โอโนเรที่ ๓, เจ้าชาย
- ฮับส์บูร์ก, ราชวงศ์
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- ชาโตโปร์ซีออง, ราชรัฐ
- นโปเลียนที่ ๑, จักรพรรดิ
- ปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย, ราชอาณาจักร
- ฝรั่งเศสที่ ๑, จักรวรรดิ
- มารี-เตแรส เดอ ชัวเซิล สแตงวีล
- ยุทธการที่วอเตอร์ลู
- เรอเตล, ราชรัฐ
- สนธิสัญญาปารีส
- สมัยร้อยวัน
- สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๑
- สภายุโรป
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 5.M 395-576.pdf